วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2 (Mind Mapping)

การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ครั้งที่ 2                          
วันที่ 7 กันยายน 2555 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
กติกาและประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกัน                                                                                                         
1. เรียนรู้ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างอิสระ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าใครผิดหรือใครถูก        
2. เรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ในการจัดทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2
ขั้นตอนการทำงาน
1. รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกแกนนำชุมชนทั้ง 5 หมู่บ้าน                                                                     
2. สมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมกันตีความข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมจากชาวบ้าน                
3. จัดทำแผนที่ความคิด ครั้งที่ 2 พร้อมสรุป
รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกแกนนำชุมชน
            สมาชิกแกนนำได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากหมู่บ้านของตน โดยหมู่ 1 เก็บข้อมูลได้จำนวน 23 ชุด หมู่ 2 ได้จำนวน 18 ชุด หมู่ 3 ได้จำนวน 34 ชุด หมู่ 4 ได้จำนวน 13 ชุด และหมู่ 5 ได้จำนวน10 ชุด
ร่วมตีความข้อมูล
สมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมตีความข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมจากชาวบ้าน เนื่องจากข้อมูลที่ได้แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) ความต้องการชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ต้องการลานกีฬา ตลาดนัดชุมชน ชุมชนปลอดยาเสพติด ถนน เสียงตามสาย ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต ธนาคารขยะชุมชน เสาไฟฟ้า เป็นต้น และ 2) ความต้องการที่ต้องอาศัยการตีความหมายจากสิ่งที่ชาวบ้านได้เขียนลงในกระดาษ เช่น
“ความฝันของผมอยากให้หมู่บ้านมอญศาลาแดงเหนือเปลี่ยนแปลงตามระบบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตามความเห่อของสังคม การเปลี่ยนแปลงของบ้านมอญศาลาแดงเหนือต้องเปลี่ยนแปลงไม่ลืมอดีต เรียนรู้ปัจจุบันให้ดี และค้นคว้าการวางแผนในอนาคตให้ถูกต้อง  พระอาจารย์วัดศาลาแดงเหนือและปู่ย่าตายาย พ่อแม่ได้วางกฎเกณฑ์ระเบียบของคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านมอญศาลาแดงเหนืออย่างดี เว้นแต่ใครจะปฏิบัติ ผมอยากมีอาคารเก็บสิ่งของและความรู้ในอดีตของบ้านมอญศาลาแดงเหนือและที่วัดศาลาแดงเหนือเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่และคนที่ไม่รู้ในหมู่บ้านศาลาแดงเหนือและบุคคลภายนอก ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ (แต่ความรู้ รู้ไม่หมด)
“อยู่อย่างพอเพียงตามวิถีชีวิต พอมี พอกิน พอเก็บบ้าง กินทุกอย่างที่ปลูกและปลูกทุกอย่างที่กินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอย่างสมเหตุสมผล ประชาชนมีความสามัคคี มีสติปัญญา และมีความพากเพียร มีการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง”
“ดิฉันไม่อยากฝันแล้วเป็นภาระตัวเอง ชาวบ้านเอาแต่ใจตัวเอง เอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เอาความถูกต้องเป็นรอง”


จากการตีความข้อมูล “ชุมชนในฝัน” ที่ได้รับของแต่ละหมู่บ้าน สามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้                                            
หมู่ 1 ปากอาด พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                
 - มีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำ                                                                                                    
 - มีสนามกีฬาชุมชนและศาลาประชาคม                                                                                          
 - การมีส่วนร่วมของชุมชน

หมู่ 2 ศาลาแดงเหนือ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                        
- มีความสามัคคี                                                                                                                         
- ไม่เห็นแก่ตัว                                                                                                                           
- พูดแต่สิ่งดีๆ และใส่ใจวัฒนธรรมประเพณีมอญ

หมู่ 3 เมตารางค์ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                               
- มีส่วนร่วมในชุมชน                                                                                                                  
- เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความสามัคคี ส่งเสริมสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน และตลาดนัด ชุมชน                                                                                                                                     
- มีการดูแลรักษาสุขภาพ และมีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำชุมชน

หมู่ 4 ศาลาพัน พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                 
- ปลอดยาเสพติด                                                                                                                      
- สาธารณูปโภคดีขึ้น และมีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำชุมชน                                                                
- มีส่วนร่วมในชุมชน    

หมู่ 5 บ้านคลองวัดพลับ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                
- ปลอดยาเสพติด                                                                                                                      
- มีถนนคอนกรีต และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม                                                                                 
- มีส่วนสุขภาพ และเครื่องออกกำลังกาย

สรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน
            การตีความข้อมูลที่ได้รับจากแต่ละหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เนื่องจากสมาชิกแกนนำชุมชนเองก็ไม่เคยผ่านการทำแผนที่ความคิดที่มีการรวบรวมความคิดจากชาวบ้านมาก่อน ทำให้สมาชิกแกนนำชุมชนรับทราบว่าชาวบ้านภายในหมู่บ้านของตนเองมีความต้องการหรือมีทิศทางในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างไรบ้าง ในด้านของนักศึกษาก็กล้าแสดงความคิดเห็น และมีการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น ส่วนคณะทำงานก็ได้ข้อมูลกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งได้รับรู้ปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งทิศทางการพัฒนาที่เป็นที่ต้องการของชุมชน
การได้มีโอกาสพบปะแกนนำครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนิทสนม สมาชิกแกนนำชุมชนมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก ร่วมถกเถียงในประเด็นต่างๆ ทั้งประเด็นเรื่องทั่วไป และประเด็นการจัดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการชุมชนสรรสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ คณาจารย์และนักศึกษายังได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่หมู่บ้านศาลาแดงเหนือ ซึ่งได้เห็นสภาพหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยอารยะแห่งวัฒนธรรมมอญ รวมทั้งได้สัมผัสบรรยากาศที่สดชื่นและสวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
่ง





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น