วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 1 (Mind Mapping)

การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ครั้งที่ 1                                 
วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
กติกาและประเด็นในการเรียนรู้ร่วกัน                                                                                                          
1. เรียนรู้ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างอิสระ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าใครผิดหรือใครถูก        
2. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสริมสร้างบรรยากาศอันเป็นมิตร                                                               
3. เรียนรู้เรื่องวิทยากรกระบวนการ                                                                                                                 
4. จัดทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 1 โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
ขั้นตอนการทำงาน
1. จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม                                                                                                    
2. อบรมวิทยากรกระบวนการ                                                                                                      
3. จัดทำแผนที่ความคิด ครั้งที่ 1
กิจกรรมการละลายพฤติกรรม
            คณะทำงานได้มอบหมายให้อาจารย์นุกูลกิจ นิลวงษานุวัติ อาจารย์ประจำแผนกีฬา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการละลายพฤติกรรม ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ โดยเกมส์ที่สมาชิกได้ร่วมเล่นแต่ละเกมส์ต่างก็มีความหมายแฝงที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานกลุ่มร่วมกัน อาทิเช่น เกมส์ “JENGA” คือ เกมที่นำไม้ 54 ท่อนเล็กๆ มาเรียงชั้นละ 3 ท่อน แล้ววางสลับกันไป จนครบ 18 ชั้น จากนั้น ก็ให้ผู้เล่นดึงท่อนไม้ท่อนไหนก็ได้ยกเว้นบนสุด เพื่อวางต่อยอดขึ้นไป ให้ได้ชั้นสูงที่สุด แล้วเกมจะจบเมื่อท่อนไม้ที่ต่อยอดกันขึ้นไปพังทลายลงมา ซึ่งการเล่มเกมส์ดังกล่าวมีความหมายเปรียบเปรยว่า ไม้แต่ละท่อนที่นำมาวางเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ เป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ในขณะที่ผู้เล่นต้องดึงท่อนไม้ออกด้วยความเบามือที่สุดเพื่อไม่ให้ไม้ที่ต่อกันพังทลายลงมา ก็เหมือนกันกับแต่ละคนที่อยู่ในชุมชนต่างก็มีความคิดที่เป็นของตนเอง ยึดมั่นในสิ่งที่ตนคิด แต่เมื่อมารวมกลุ่มกันเพื่อทำงานให้แก่ส่วนร่วม แต่ละคนก็ต้องลดความเป็นตัวของตัวเองลง แต่ใช้ความอ่อนโยน ความถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ยึดติดกับตนเอง เพื่อให้ชุมชนตนเองอยู่ได้โดยไม่พังลงมาเพราะถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ ทำอะไรโดยไม่เห็นแก่ส่วนรวม เปรียบเหมือนดึงท่อนไม้ออกมาด้วยแรงทั้งหมดที่มีโดยปราศจากความเบามือ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ ผลก็คือ ไม้ที่อุตส่าห์ช่วยกันต่อมาก็จะล้มครืนในที่สุด เป็นต้น






การอบรมวิทยากรกระบวนการ                                                                                                 
วิทยากรกระบวนการ คือ คนกลางที่ช่วยจัดและดำเนินงานการพบปะชุมชนอบรมให้เกิดการคิดที่เป็นระบบ มีความคิดอิสระและสามารถใช้ทักษะในการสื่อสารในการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการประชุม เสวนา หรืออบรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างบรรยากาศแห่งมิตรภาพ ความร่วมมือที่จริงจังและจริงใจ รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางวัฒนธรรมที่ทำให้การคิดและการสื่อสารขาดประสิทธิภาพ โดยสามารถทำให้สมาชิกในกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนและสะท้อนประสบการณ์ หาแนวทางแก้ไขหรือหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยกระตุ้นให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการบังคับ ช่วยตั้งประเด็นให้กลุ่มได้คิดอย่างเป็นระบบ ร่วมกันวางแผน และดำเนินงานตามแผนบนพื้นฐานประโยชน์ร่วมกัน
ดังนั้น ในการที่จะพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการเปิดโอกาสให้บุคคลในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน ร่วมตัดสินใจอนาคตของชุมชนร่วมกัน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดการจัดเวทีชุมชนเสวนา “ปัดฝุ่นภูมิปัญญา ค้นที่มาเชียงรากน้อย” เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากแต่ละหมู่บ้านเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมต่อไป แต่ในการจัดเวทีดังกล่าวจะต้องมีวิทยากรกระบวนการซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนจากชุมชนตำบลเชียงรากน้อยทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยจัดและดำเนินงานการประชุมให้เกิดการคิดที่เป็นระบบ สามารถทำการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันได้ ด้วยการใช้เทคนิคและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจสำคัญ
คณะทำงานจึงได้จัดให้มีการอบรมวิทยากรกระบวนการ โดยเชิญแกนนำชุมชนจาก 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 ปากอาด หมู่ 2 ศาลาแดงเหนือ หมู่ 3 เมตารางค์ หมู่ 4 ศาลาพัน และหมู่ 5 บ้านคลองวัดพลับ ซึ่งมีแกนนำชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็น หมู่ 1 ปากอาด จำนวน 1 คน หมู่ 2 ศาลาแดงเหนือ จำนวน 4 คน หมู่ 3 เมตารางค์ จำนวน 1 คน หมู่ 4 ศาลาพัน จำนวน 1 คน และหมู่ 5 บ้านคลองวัดพลับ จำนวน 1 คน รวมจำนวน 8 คน แต่หลังจากที่คณะกรรมการได้พูดคุยกับแกนนำชุมชนแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่เคยได้รับการอบรมวิทยากรกระบวนการกันมาแล้ว คณะทำงานจึงตัดสินใจที่จะข้ามการอบรมดังกล่าวไป
จัดทำแผนที่ความคิด ครั้งที่ 1
คณะทำงานให้แกนนำชุมชนทั้ง 8 คน ร่วมจัดทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนในฝัน” แบ่งเป็น 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งสมาชิกแกนนำชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน โดยกลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยแกนนำชุมชนจากหมู่ 1, 3, 4 และ 5 ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นแกนนำจากหมู่ 2 แล้วให้สมาชิกถ่ายทอดความคิด หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสมองลงกระดาษ โดยการใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อแบบเดิมที่เป็นบรรทัด ๆ เรียงจากบนลงล่าง ขณะเดียวกันก็ช่วยเป็นสื่อนำข้อมูลจากภายนอก เช่น หนังสือ คำบรรยาย การประชุม ส่งเข้าสมองให้จดจำได้ดีกว่าเดิม ซ้ำยังช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่าย เนื่องจากจะเห็นเป็นภาพรวม และเปิดโอกาสให้สมองเชื่อมโยงข้อมูลหรือ ความคิดต่าง ๆ เข้าหากันได้ง่ายกว่า โดยแสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิดรอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
อยากเห็น “ชุมชนในฝัน” เป็นอย่างไร
 หลังจากสมาชิกแกนนำทั้ง 5 หมู่บ้าน ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยแล้ว ก็ลงมือร่วมกันคิด ร่วมกันวาดภาพฝัน ที่อยากจะเห็นพื้นที่ชุมชนตำบลเชียงรากน้อยเป็นแบบไหนในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีการปรึกษาหารือกัน บ้างก็เคร่งเครียดเพราะยังไม่ลงตัว สลับกับเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นเป็นระยะๆ
กลุ่มที่ 1 ด้านเศรษฐกิจ ต้องการให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว เช่น หมู่ 3 มีเครื่องกรองน้ำโบราณ หมู่ 4 อยากให้เกิดตลาดน้ำ หมู่ 5 มีธรรมมาสน์โบราณและพระโบราณ 500 ปี ทางกลุ่ม 1 ยังต้องการให้มีกลุ่มชมรมทำนา มีการถ่ายทอดเรื่องการเรียนรู้วิถีธรรมชาติ โดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืชอินทรีย์ การประมง และการนำปลามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปลาหวาน และปลาเค็ม รวมถึงเกิดกลุ่มเศรษฐกิจแม่บ้านโดยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูป เช่น กล้วยอบน้ำผึ้ง และเกิดเป็นตลาดชุมชนขึ้นมา
ด้านสังคมและวัฒนธรรม ต้องการให้มีลานกีฬา ส่งเสริมประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ ประเพณีมอญโบราณ  รวมทั้งพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น
ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องการให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15-45 ปี รวมทั้งช่วยเหลือผู้พิการในชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ต้องการให้เกิดถนนในฝันที่เต็มไปด้วยต้นไม้ก่อให้เกิดความสวยงาม ต้องการระบบชลประทานที่ดี ต้องการให้แต่ละบ้านมีหน้าบ้านที่สวยงาม รวมทั้งต้องการให้มีการจัดแผนที่หมู่บ้านและแผนที่การเดินทางมาหมู่บ้าน
กลุ่มที่ 2 ด้านเศรษฐกิจ ต้องการให้เกิดซุ้มอาหารซึ่งประกอบไปด้วยอาหารมอญ เช่น ข้าวแช่มอญ และอาหารพื้นบ้านที่สามารถจัดจำหน่ายนอกสถานที่ได้
ด้านสังคมและวัฒนธรรม ต้องการให้มีลานฝึกเล่นสะบ้าและลานกลองยาวของหมู่บ้านเพื่อไว้แห่หางหงส์
ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องการให้มีถนนคนกินผัก ลานออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพเด็กปีละ 2 ครั้ง และนวดแผนไทย




หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันภายใต้หัวข้อ “ชุมชนในฝัน” แล้ว คณะทำงานได้มอบหมายให้สมาชิกแกนนำชุมชนเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านในหมู่บ้านของตนเองเพื่อนำมาทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2 โดยได้แจกกระดาษเปล่าให้สมาชิกแกนนำชุมชนหมู่บ้านละ 40 ใบ แล้วให้แกนนำแต่ละคนแจกต่อไปยังชาวบ้านในหมู่บ้านของตน โดยใช้โจทย์เดียวกันคือ “ชุมชนในฝัน” ควรจะเป็นอย่างไร โดยกำหนดเวลา 1 สัปดาห์ และจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2 ต่อไป
สรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน
            คณะทำงานต้องทำการสำรวจหาข้อมูลจากแกนนำชุมชนก่อนว่า เขาเหล่านั้นเคยผ่านการทำกิจกรรมใดมาบ้างแล้ว เพื่อไม่ได้เกิดการซ้ำซ้อน และเกิดการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกแกนนำชุมชน ยกตัวอย่างเช่น คณะทำงานตั้งใจจะจัดอบรมวิทยากรกระบวนการให้สมาชิกแกนนำชุมชนแต่กลับพบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ผ่านการอบรมดังกล่าวมาแล้ว
            การทำแผนที่ความคิดทำให้สมาชิกแกนนำชุมชนได้เรียนรู้ที่จะพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วม เข้าใจสิ่งที่ตนต้องการ และสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ซึ่งคณะทำงานพบว่า ชุมชนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปสู่การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ได้จริง (Creative Space) เช่น ถนนคนกินผัก การอนุรักษ์ข้าวแช่มอญ และการเรียนรู้วิถีชีวิตธรรมชาติ เป็นต้น
            สิ่งที่สำคัญที่คณะทำงานเห็นคือ การร่วมแรงร่วมใจ ความเต็มใจ ความเสียสละ และความกระตือรือร้น ของสมาชิกแกนนำชุมชนที่จะสร้างชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับกลุ่มบุคคลภายนอกเช่น มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาคเอกชน และสื่อมวลชน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น