วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555


การจัดเวทีชุมชนเสวนา “ปัดฝุ่นภูมิปัญญา ค้นที่มาเชียงรากน้อย”
วันที่ 29 กันยายน 2555 ณ วัดศาลาแดงเหนือ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี


กติกาและประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกัน                                                                                                         

1. เรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน ชาวบ้าน คณาจารย์ และนักศึกษา เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมของตำบลเชียงรากน้อย                                                                                                        
2. ผู้เข้าร่วมเสวนามีส่วนร่วมในเวทีชุมชนครั้งนี้โดยสามารถซักถามข้อสงสัย ร่วมเล่าเรื่องราวของชุมชน หรือแบ่งปันประสบการณ์ในอดีตได้อย่างอิสระ
ปัดฝุ่นภูมิปัญญา ค้นที่มาเชียงรากน้อย
1. ภาพโดยรวมของชุมชนตำบลเชียงรากน้อย

สภาพโดยทั่วไป
อาณาเขต  มีเนื้อที่ประมาณ 11.7 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7,300 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้                               
ทิศเหนือ         ติดกับตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา                                   
ทิศใต้            ติดกับตำบลบ้านงิ้ว และตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี                         
ทิศตะวันออก      ติดกับเทศบาลเมืองท่าโขลง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี                                         
ทิศตะวันตก  ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตรงข้ามเป็นตำบลท้ายเกาะ)
เขตการปกครอง  ประกอบด้วยจำนวนหมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน คือ                                                               
หมู่ 1 บ้านปากอาด         232 ครัวเรือน  ชาย 369 คน  หญิง 355 คน  รวม 742 คน                                  
หมู่ 2 บ้านศาลาแดงเหนือ    101 ครัวเรือน  ชาย 174 คน  หญิง 163 คน  รวม 337 คน                                        
หมู่ 3 บ้านเมตารางค์      135 ครัวเรือน  ชาย 261 คน  หญิง 284 คน  รวม 545 คน                                 
หมู่ 4 บ้านศาลาพัน         284 ครัวเรือน  ชาย 455 คน  หญิง 478 คน  รวม 933 คน                                  
หมู่ 5 บ้านพลับ                246 ครัวเรือน  ชาย 437 คน  หญิง 463 คน  รวม 900 คน                                          
รวม  998 ครัวเรือน              ชาย 1,696 คน  หญิง 1,743 คน รวมทั้งสิ้น 3,439 คน
สภาพภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ                                                                                  
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีคลองธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย อุณหภูมิปกติ ฝนตกตามฤดูกาลทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอแก่การเกษตรกรรม
สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวม
            ชุมชนโดยรวมมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป มีการดำเนินวิถีชีวิตแบบชุมชนดั้งเดิม มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นมีแรงเกาะเกี่ยวในความสัมพันธ์ของชุมชนอย่างเหนียวแน่น
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การไฟฟ้า ราษฎรมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
การประปา
ราษฎรยังขาดน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคมีปริมาณครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาบาดาลประมาณ 700 ครัวเรือน (การประปาส่วนภูมิภาคยังไม่เข้ามาลงทุน ให้บริการประชาชน)
การสื่อสารและโทรคมนาคม
            ครัวเรือนติดตั้งโทรศัพท์ ประมาณ 99% ไม่มีสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ เครือข่ายวิทยุสื่อสาร หรือสถานีวิทยุชุมชน       
การจราจร
            การจราจรสะดวกทางบก มีการจราจรทางน้ำเพียงเล็กน้อย ในส่วนที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนคลองต่างๆ ตื้นเขิน มีวัชพืชหนาแน่น ต้องกำจัดทุกปี ไม่มีการจราจรทางน้ำในคลอง
การใช้ที่ดิน
            พื้นที่ประกอบการเกษตรกรรมเดิมส่วนใหญ่ ได้เปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุน และยังไม่ได้รับการพัฒนาทำประโยชน์ เกษตรกรจึงยังได้เช่าทำการเกษตรกรรม
 ด้านเศรษฐกิจ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ/รายได้ประชากร                                                                                        
รับจ้างเอกชน                 53%     
รับราชการ,รัฐวิสาหกิจ    1%                                                           
การเกษตรกรรม             42%     
อื่นๆ                             1%                                              
ประกอบการพาณิชย์    3%      
การเกษตรกรรม
            มีจำนวนครัวเรือนในภาคเกษตรกรรม 332 ครัวเรือน ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือข้าว มะม่วง ขนุน กล้วยน้ำว้า มะพร้าว และสัตว์น้ำ
การอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรม 13 แห่ง
การพาณิชยกรรม/การบริหาร  มีร้านค้าทั่วไป 37 แห่ง บ้านหรือห้องให้เช่า 12 แห่ง ไม่มีหน่วยธุรกิจประเภทบริการ
การปศุสัตว์  มีการประกอบปศุสัตว์ในท้องถิ่น เช่นการเลี้ยงไก่ เป็ด
การท่องเที่ยว
            มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ชุมชนบ้านศาลาแดงเหนือ เป็นหมู่บ้านต้นแบบคุณธรรมดีเด่น กล่าวคือชาวบ้านในชุมชนมีวิธีดำเนินวิถีชีวิตตามครรลองคลองธรรมในพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในอัตลักษณ์ของชาวไทยรามัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการร่วมมือกันดูแลชุมชน และสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านให้งดงาม เป็นระเบียบ สะอาด ปราศจากมลภาวะ และมีวิถีชีวิตประจำวันที่สะอาดเป็นเลิศ ด้วยเชื่อว่านิสัยรักษาความสะอาดเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว ชาวบ้านจะไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในทุกครัวเรือนจะทำบ่อบำบัดน้ำทิ้งจากครัวเรือนก่อนที่จะผ่านลงแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นบ่อบำบัดน้ำที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชน
            ศิลปกรรมล้ำค่าในชุมชน คือโบราณวัตถุที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ทางศาสนา และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพระสงฆ์และชาวบ้านศาลาแดงเหนืออย่างมาก นอกจากนี้ยังพบหินกรองน้ำโบราณอายุกว่าร้อยปี ธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นราว พ.ศ.2417 เอกสารประเภทใบลาน สมุดข่อย ภาษาบาลี ภาษามอญ และภาษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ชาดก กฎหมาย ฯลฯ

วัฒนธรรมประเพณี
            - ประเพณีตักบาตรพระร้อย  เริ่มในช่วงเทศกาลออกพรรษา แรม 11 ค่ำ เดือน 11
            - ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง    เริ่มทำในช่วง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันพระกลาง 10    
            - ประเพณีสงกรานต์        เริ่มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี
            - ประเพณีส่งข้าวแช่        กระทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์    
            - ประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ          กระทำในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
            - ประเพณีทำบุญวันสารท ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันพระสิ้นเดือน 10 )
            - ประเพณีจุดลูกหนู         กระทำในงานฌาปนกิจศพของพระสงฆ์ชาวมอญ

ด้านสังคม
การศึกษา โรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง ได้แก่
            1. โรงเรียนวัดเมตารางค์ หมู่ 3                                                                                           
2. โรงเรียนศาลาพัน หมู่ 4 (เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม)
สถาบันและองค์กรทางศาสนา มีวัด 5 แห่ง ได้แก่
            1. วัดศาลาแดงเหนือ หมู่ 2
            2. วัดเมตารางค์ หมู่ 3
            3. วัดโพธิ์นิ่มรัตตาราม หมู่ 4
            4. วัดโกเมศรัตตาราม หมู่ 5
            5. วัดพลับสุทธาวาส หมู่ 5
การสาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงรากน้อย
การสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม
            ตำบลเชียงรากน้อยมีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยสงเคราะห์เพื่อยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 461 คน และมีคนพิการที่ได้รัยเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนพิการ 124 คน
การพัฒนาอาชีพ
            ได้มีการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ของคนในครัวเรือนของแต่ละหมู่บ้าน จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ดังนี้
                        1. กลุ่มอาชีพเพาะเห็ด หมู่1
                        2. กลุ่มอาชีพสตรีพัฒนาบ้านศาลาแดงเหนือ หมี่กรอบ หมู่2
                        3. กลุ่มอาชีพสตรีวัดพลับ ส้มทองเบเกอรี่ หมู่5
                        4. กลุ่มอาชีพสตรีวัดพลับ กลุ่มหัตถกรรมไม้กวาดอ่อน หมู่5

2. เรื่องเล่าที่มา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมรดกทางวัฒนธรรม
หมู่ 1 ปากอาด พบว่า มีกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มอาชีพขนมหวาน เช่น ขนมชั้น กลุ่มร้อยลูกปัด การสม็อกหมอน การเกษตรดั้งเดิม ทำนาย้อนอดีต กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งสามารถมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ยำเห็ด กลุ่มการเรียนรู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ขนมไทย และมีกลุ่มออมทรัพย์ที่พึ่งตนเอง ไม่ต้องกู้นอกระบบ มีสมาชิกกว่า 100 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้สูงอายุที่ทราบตำนานประวัติบ้านปากอาดเป็นอย่างดี คือ ลุงเฉลิม มีการจัดตั้งกลุ่มผู้อาวุโสเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุประตูน้ำก็มีโครงการที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบากโดยการจัดหารถเข็นให้ มีการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ บริเวณที่หลวงชลประทาน เพื่อหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้ไม่มีที่อยู่ สำหรับชาวบ้านหมู่ 1 เท่านั้น และมีกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดผู้สูงอายุ
หมู่ 2 ศาลาแดงเหนือ พบว่าสภาพโดยทั่วไปเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ในอดีตมีอาชีพค้าขายอยู่ริมแม่น้ำ ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้เก็บอนุรักษ์เรือโบราณไว้จำนวนหนึ่งเพื่อจะนำมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เรือไว้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของศาลาแดงเหนือให้คนรุ่นหลังได้ทราบ
            ด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี พบว่า มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมมอญสู่คนรุ่นหลัง มีเสาหงส์ หรือหางหงส์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบมอญและจะมีการแห่หางหงส์ที่เป็นเสาธงทุกปีในวันสงกรานต์ ด้านศาสนา มีการเก็บอนุรักษ์หอไตรปิฎกภาษามอญไว้ มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้ชีวิตที่แนบเนื่องพระพุทธศาสนา รวมทั้งมีเจดีย์มอญ 2 รูปแบบ
            ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ชุมชนมีการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เช่น สมัยก่อนมีเตาเผาขยะชุมชน แต่ต่อมาเมื่อทราบว่าการเผาขยะทำลายมลภาวะสิ่งแวดล้อม ทางชุมชนจึงเลิกแล้วปรับเปลี่ยนเป็นที่ทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในการทำบ่อดักไขมันชื่อ “ลุงอ๊อด” ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง มีบุคคลภายนอกมาขอศึกษาดูงานเรื่องบ่อดักไขมันมากมาย แต่ในปัจจุบันลุงอ๊อดได้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ไม่มีใครสืบทอดความรู้ดังกล่าว
            ด้านเศรษฐกิจและรายได้ชุมชน พบว่า มีกลุ่มอาชีพสตรีพัฒนาบ้านศาลาแดงเหนือที่ทำหมี่กรอบที่มีชื่อเสียง มีกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนแก้ไขความยากจน (กขคจ) เงินกองทุนแม่เพื่อแผ่นดินที่นำเงินทุนมาแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน และกลุ่มออมทรัพย์ที่เก็บเงินออมทรัพย์เดือนละ 500 บาท
หมู่ 3 เมตารางค์ พบว่า ในด้านวัฒนธรรมมอญมีความคล้ายคลึงกับหมู่ 2 ศาลาแดงเหนือเนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดกัน ด้านอาชีพในชุมชน พบว่า ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมกึ่งค้าขาย มีการปลูกเห็ด ปลูกมะนาวในโอ่ง การทำยาขัดรองเท้า และมีการปลูกผักริมถนนซึ่งเป็นพืชผักสวนครัวเรียกว่า “ถนนกินได้” ด้านศาสนา มีเจดีย์มอญชเวดากองที่มีขนาดใหญ่และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านคือ “หลวงปู่งา” รวมทั้งที่วัดเมตารางค์ ยังมีตู้มุกที่งดงามและมีเครื่องกรองน้ำโบราณอีกด้วย
หมู่ 4 ศาลาพัน พบว่า สภาพโดยทั่วไปเป็นหมู่บ้านชนบทกึ่งอุตสาหกรรมเนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดกับอุตสาหกรรม นวนคร มีการอาชีพทำนา ทำสวนไผ่กิมซุงเป็นเป็นหน่อไม้ที่มีรสชาติอร่อยและสามารถทนน้ำท่วมได้ สามารถขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท นอกจากนี้ ยังมีการปลูกมะม่วง มีกลุ่มอาชีพเพาะเห็ด มีกลุ่มแม่บ้านร้อยลูกปัด และมีศูนย์การเรียนรู้การเกษตรซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแปลงสาธิตให้เยาวชนได้ศึกษาเรื่องธรรมชาติต้นไม้
            ด้านศาสนา พบว่า วัดโพธิ์นิ่มเป็นแหล่งศูนย์รวมของชุมชน มีการจัดกิจกรรมด้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย เช่น การประกวดนางสงกรานต์ผู้สูงอายุ งานประเพณีลอยกระทง เป็นต้น
หมู่ 5 วัดพลับ พบว่า โดยทั่วไปชาวบ้านมีอาชีพทำนาเพราะมีพื้นที่การเกษตรมาก มีศูนย์ข้าวพันธุ์ดี ดังนั้น ในอนาคตจึงอยากตั้งเป็นชมรม “คนทำนา” นอกจากนี้แล้ว ในด้านเศรษฐกิจชุมชน พบว่า มีกลุ่มอาชีพสตรีวัดพลับ กลุ่มทำขนมปังที่เรียกว่า “ส้มทองเบเกอรี่” มีการผลิตยาแผนโบราณที่ทำจากสมุนไพร เช่น ยาหอม ยาลม เป็นต้น
            ด้านประเพณีวัฒนธรรม พบว่า มีวัฒนธรรมมอญที่คล้ายคลึงกับหมู่ 2 และหมู่ 3 มีการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ เช่น มอญซ่อนผ้า หมากเก็บ ทอยสะบ้า นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเพลงพื้นบ้านอีกด้วย ด้านศาสนา พบว่า ที่วัดพลับมีหลวงพ่อเงิน (เป็นเงินทั้งองค์) ที่เป็นที่สักการะขอพรจากชาวบ้าน และในอนาคตข้างหน้าต้องการรื้อฟื้นกลุ่มทำไม้กวาดอ่อนขึ้นมาอีกครั้ง เพราะไม้กวาดอ่อนที่ทางหมู่บ้านผลิตขึ้นมีคุณภาพดี รวมทั้งอยากตั้งชมรม “คนเขียนเพลง” ขึ้นอีกด้วย

สรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน
            การเข้าไปในพื้นที่ชุมชนของคณะทำงานและนักศึกษา ได้รับความสนใจจากชาวบ้านพอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีความขลุกขลักบ้างในบางเรื่อง เช่น ติดขัดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของชุมชน หรือความคิดเห็นที่แตกต่างของคนในชุมชน แต่เมื่อได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจโดยคณะทำงานได้มีการสื่อสารชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ “ชุมชนสรรสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์” ก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการดำเนินโครงการต่างๆ เสียงที่สะท้อนของชาวบ้านคือ ต้องการให้ทำโครงการอย่างต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ และไม่รบกวนวิถีชีวิตชาวบ้าน รวมทั้งคณะทำงานได้พบกับหัวหน้ายุวชนจิตอาสาของหมู่บ้านศาลาแดงที่เป็นบุตรสาวของผู้ใหญ่บ้านศาลาแดงเหนือที่มีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เยาวชนในท้องถิ่นมีจิตอาสาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนซึ่งถือว่าเป็นพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเยาวชนกลุ่มนี้ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา
            นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่า “ชุมชน” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เนื่องจากความคิดของชาวบ้านเป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของตนเองได้เป็นอย่างดีและสร้างสรรค์ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศาสตร์วิชาการที่ร่ำเรียนกันมาในสถาบันการศึกษา แต่ใช้ประสบการณ์ การลองผิดลองถูก และวิถีชีวิต เข้ามาประยุกต์ใช้ด้วยกันได้อย่างลงตัว





 

การประชุมระดมความคิด (Brainstorming) ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การประชุมระดมความคิด (Brainstorming)                                                                                                
วันที่ 19 กันยายน 2555 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต
กติกาและประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกัน                                                                                                         
1. ระดมความคิด ตั้งประเด็นที่จะเสวนาในเวทีชุมชน                                                                           
2. เรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน และคณาจารย์ ในการกำหนดรูปแบบเวทีชุมชนเสวนา รวมทั้งประสานงานเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ในวันจัดงาน

ขั้นตอนการทำงาน                                                                                                                                      
1. นัดหมายสมาชิกแกนนำชุมชนเพื่อมาประชุมที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต                               
2. รวบรวมความคิดจากสมาชิกแกนนำชุมชนและคณะทำงานจนได้ประเด็นในการเสวนา                                
3. กำหนดผู้เข้าร่วมเสวนาและประเด็นที่แต่ละท่านต้องพูด ประสานงานเรื่องสถานที่ การเดินทางและจดหมายเชิญต่างๆ
ประชุมระดมความคิด
            วัตถุประสงค์ของการประชุมระดมความคิดในครั้งนี้คือ ต้องการให้คณะทำงานและสมาชิกแกนนำชุมชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่จะใช้ในการเสวนาชุมชนในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2555 ซึ่งการระดมความคิดนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์ความคิดเห็นและบรรยากาศของการยอมรับสำหรับความคิดเห็นทุกความคิดเห็น โดยไม่มีการประเมินว่าความคิดเห็นของใครดีกว่าของใคร ความคิดเห็นของทุกคนจะถูกรวบรวมและนำเสนอให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ                                                                                                   
            จากการทำแผนที่ความคิดทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ลักษณะ “ชุมชนในฝัน” ของชาวตำบลเชียงรากน้อยมีหลากหลายมิติ เช่น มิติด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพพลานามัย เป็นต้น ซึ่งทางคณะทำงานและสมาชิกแกนนำต้องระดมความคิดและตัดสินใจร่วมกันว่าจะนำเสนอประเด็นอะไรในวันจัดเวทีชุมชนเสวนา ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าควรจะเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น และมรดกทางวัฒนธรรม และได้มีการร่วมคิดชื่อหัวข้อที่จะสามารถสื่อสารถ่ายทอดเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมได้ ผลสรุปที่ได้จากการระดมสมองคือ “ปัดฝุ่นภูมิปัญญา ค้นที่มาเชียงรากน้อย”







การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2 (Mind Mapping)

การอบรมวิทยากรกระบวนการและการทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ครั้งที่ 2                          
วันที่ 7 กันยายน 2555 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
กติกาและประเด็นในการเรียนรู้ร่วมกัน                                                                                                         
1. เรียนรู้ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างอิสระ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ว่าใครผิดหรือใครถูก        
2. เรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ในการจัดทำแผนที่ความคิดครั้งที่ 2
ขั้นตอนการทำงาน
1. รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกแกนนำชุมชนทั้ง 5 หมู่บ้าน                                                                     
2. สมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมกันตีความข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมจากชาวบ้าน                
3. จัดทำแผนที่ความคิด ครั้งที่ 2 พร้อมสรุป
รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกแกนนำชุมชน
            สมาชิกแกนนำได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากหมู่บ้านของตน โดยหมู่ 1 เก็บข้อมูลได้จำนวน 23 ชุด หมู่ 2 ได้จำนวน 18 ชุด หมู่ 3 ได้จำนวน 34 ชุด หมู่ 4 ได้จำนวน 13 ชุด และหมู่ 5 ได้จำนวน10 ชุด
ร่วมตีความข้อมูล
สมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมตีความข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมจากชาวบ้าน เนื่องจากข้อมูลที่ได้แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) ความต้องการชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ต้องการลานกีฬา ตลาดนัดชุมชน ชุมชนปลอดยาเสพติด ถนน เสียงตามสาย ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต ธนาคารขยะชุมชน เสาไฟฟ้า เป็นต้น และ 2) ความต้องการที่ต้องอาศัยการตีความหมายจากสิ่งที่ชาวบ้านได้เขียนลงในกระดาษ เช่น
“ความฝันของผมอยากให้หมู่บ้านมอญศาลาแดงเหนือเปลี่ยนแปลงตามระบบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตามความเห่อของสังคม การเปลี่ยนแปลงของบ้านมอญศาลาแดงเหนือต้องเปลี่ยนแปลงไม่ลืมอดีต เรียนรู้ปัจจุบันให้ดี และค้นคว้าการวางแผนในอนาคตให้ถูกต้อง  พระอาจารย์วัดศาลาแดงเหนือและปู่ย่าตายาย พ่อแม่ได้วางกฎเกณฑ์ระเบียบของคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านมอญศาลาแดงเหนืออย่างดี เว้นแต่ใครจะปฏิบัติ ผมอยากมีอาคารเก็บสิ่งของและความรู้ในอดีตของบ้านมอญศาลาแดงเหนือและที่วัดศาลาแดงเหนือเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่และคนที่ไม่รู้ในหมู่บ้านศาลาแดงเหนือและบุคคลภายนอก ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ (แต่ความรู้ รู้ไม่หมด)
“อยู่อย่างพอเพียงตามวิถีชีวิต พอมี พอกิน พอเก็บบ้าง กินทุกอย่างที่ปลูกและปลูกทุกอย่างที่กินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอย่างสมเหตุสมผล ประชาชนมีความสามัคคี มีสติปัญญา และมีความพากเพียร มีการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง”
“ดิฉันไม่อยากฝันแล้วเป็นภาระตัวเอง ชาวบ้านเอาแต่ใจตัวเอง เอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เอาความถูกต้องเป็นรอง”


จากการตีความข้อมูล “ชุมชนในฝัน” ที่ได้รับของแต่ละหมู่บ้าน สามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้                                            
หมู่ 1 ปากอาด พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                
 - มีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำ                                                                                                    
 - มีสนามกีฬาชุมชนและศาลาประชาคม                                                                                          
 - การมีส่วนร่วมของชุมชน

หมู่ 2 ศาลาแดงเหนือ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                        
- มีความสามัคคี                                                                                                                         
- ไม่เห็นแก่ตัว                                                                                                                           
- พูดแต่สิ่งดีๆ และใส่ใจวัฒนธรรมประเพณีมอญ

หมู่ 3 เมตารางค์ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                               
- มีส่วนร่วมในชุมชน                                                                                                                  
- เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีความสามัคคี ส่งเสริมสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน และตลาดนัด ชุมชน                                                                                                                                     
- มีการดูแลรักษาสุขภาพ และมีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำชุมชน

หมู่ 4 ศาลาพัน พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                 
- ปลอดยาเสพติด                                                                                                                      
- สาธารณูปโภคดีขึ้น และมีความเข้มแข็งเรื่องภาวะผู้นำชุมชน                                                                
- มีส่วนร่วมในชุมชน    

หมู่ 5 บ้านคลองวัดพลับ พบว่า มีความต้องการให้ชุมชน                                                                                
- ปลอดยาเสพติด                                                                                                                      
- มีถนนคอนกรีต และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม                                                                                 
- มีส่วนสุขภาพ และเครื่องออกกำลังกาย

สรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน
            การตีความข้อมูลที่ได้รับจากแต่ละหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกแกนนำชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เนื่องจากสมาชิกแกนนำชุมชนเองก็ไม่เคยผ่านการทำแผนที่ความคิดที่มีการรวบรวมความคิดจากชาวบ้านมาก่อน ทำให้สมาชิกแกนนำชุมชนรับทราบว่าชาวบ้านภายในหมู่บ้านของตนเองมีความต้องการหรือมีทิศทางในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างไรบ้าง ในด้านของนักศึกษาก็กล้าแสดงความคิดเห็น และมีการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น ส่วนคณะทำงานก็ได้ข้อมูลกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งได้รับรู้ปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งทิศทางการพัฒนาที่เป็นที่ต้องการของชุมชน
การได้มีโอกาสพบปะแกนนำครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนิทสนม สมาชิกแกนนำชุมชนมีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก ร่วมถกเถียงในประเด็นต่างๆ ทั้งประเด็นเรื่องทั่วไป และประเด็นการจัดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการชุมชนสรรสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ คณาจารย์และนักศึกษายังได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่หมู่บ้านศาลาแดงเหนือ ซึ่งได้เห็นสภาพหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยอารยะแห่งวัฒนธรรมมอญ รวมทั้งได้สัมผัสบรรยากาศที่สดชื่นและสวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
่ง